วันพุธที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2559

10 ข้อ กันโง่! เมื่อคิดจะซื้อมอเตอร์ไซค์มือสอง

10 ข้อ กันโง่! เมื่อคิดจะซื้อมอเตอร์ไซค์มือสอง

คนที่โดนหลอกส่วนใหญ่ก็เนื่องจากความไม่รู้ หรือรู้ไม่เท่าทันเล่ห์กลของคนคิดไม่ซื่อ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องไหนๆ ยิ่งกรณีซื้อ-ขายสินค้ามือสองที่มีมูลค่าสูง เช่น บ้าน รถ สินค้าแบรนด์เนม ฯลฯ ก็มักจะโดนหลอกกันได้ง่ายๆ อย่างช่วงนี้กระแสมอเตอร์ไซค์กำลังอินใครๆ ก็ถอยมาขี่กัน ตลาดมอเตอร์ไซค์มือสองก็คึกคัก พร้อมกับมีกรณีฉ้อโกง ย้อมแมว ให้เห็นอยู่เนืองๆ ดังนั้นหากคุณคิดจะซื้อ แต่ไม่ได้เป็นเซียน หรือกูรูที่รู้เรื่องมอเตอร์ไซค์ชนิดหลับตาคล่ำก็หยั่งรู้ได้ละก็ มาดู 10 ข้อต่อไปนี้ ที่จะช่วยให้คุณไม่โดนหลอก และได้มอเตอร์ไซค์ที่ใช่มีคุณภาพไปไว้ในครอบครอง

10 ข้อ กันโง่! เมื่อคิดจะซื้อมอเตอร์ไซค์มือสอง
1. ตรวจสภาพภายนอก

ขั้นตอนแรกของการซื้อหาของมือสอง ก็คือการตรวจสอบสภาพภายนอก ในส่วนของรถมอเตอร์ไซค์ ต้องดูสภาพก่อนว่าพอใจหรือถูกใจขนาดไหน ถ้าถูกใจก็เข้าไปดูรายละเอียดกันต่อถึงเรื่องร่องรอยต่างๆ ร่องรอยที่ว่านี่คือร่องรอยของการล้มนะครับ ไม่ใช่รอยขูดขีดเล็กๆ น้อยๆ เพราะบางที่แค่รอยขูดขีดอาจทำให้คุณพลาดสภาพภายในเจ๋งๆ ก็ได้ ร่องรอยของการล้มนั้นสามารถดูได้จากจุดที่ล้มแล้วจะโดนพื้นก่อน เช่น แฮนด์ แฟริ่งข้าง พักเท้า พวกนี้เวลาล้มแล้วจะโดนพื้นก่อนเสมอ แต่การล้มอย่างนี้เพียงอย่างเดียวก็เป็นการล้มแบบไม่หนักมาก แค่ไถลๆ เปลี่ยนอะไรใหม่ก็ดูดีเหมือนเดิม แต่ไอ้ที่อยากให้ดูคือ ตัวถังรถว่ามีรอยเชื่อมใหม่มาหรือไม่ ช็อคอัพหน้า-หลัง ว่าคดมาไหม สวิงอาร์มเป็นอย่างไร พวกนี้จะเกี่ยวกับการชน หรือล้มหนักๆ มาแล้ว ซึ่งสามารถสันนิษฐานได้ว่าอาจจะกระเทือนถึงเครื่องยนต์ได้ และเราก็ไม่ควรเสี่ยง
2. ตรวจสภาพเครื่องยนต์ (เบื้องต้น)
การตรวจดูสภาพเครื่องยนต์เบื้องต้นนั้นช่วยในการตัดสินใจได้พอสมควร ซึ่งทำได้โดยการซักถามข้อมูลจากตัวเจ้าของรถเช่น เคยชน หรือล้มมาหรือไม่? เคยเปลี่ยนอะไรภายในอะไรบ้าง? ปกติเปลี่ยนน้ำมันเครื่องทุกๆ กี่กิโลเมตร หรือครั้งสุดท้ายเปลี่ยนน้ำมันเครื่องเมื่อไร? เครื่องยนต์ตัวนี้กินน้ำมัน น้ำมันเครื่องบ้างรึเปล่า? ทำนองนี้ จากนั้นก็เอาข้อมูลนั้นมาประกอบกับการดูด้วยตาของเราเองอีกครั้งเช่น มีรอยการเปิดฝามาหรือไม่โดยให้ดูที่รอยต่อระหว่างฝาสูบกับเสื้อสูบว่ามีรอยของกาวแดง หรือร่องรอยที่ผิดปกติ (รอยใหม่ๆ) ส่วนที่ตีนเสื้อสูบก็ตรวจดูเช่นกัน และดูว่ามีร่องรอยน้ำมันเยิ้มมาก่อนหรือไม่ ส่วนรถที่มีหม้อน้ำก็ดูรอยน้ำรั้วที่จุดข้อต่อต่างๆ รอยน้ำสนิมที่เป็นคราบในจุดต่างๆ ซึ่งรอยเหล่านี้นอกจากบอกให้เรารู้ว่าเคยมีรอยน้ำรั้วที่ใดบ้าง ในส่วนคาร์บูเรเตอร์ก็สังเกตว่าแห้งดีหรือไม่ มีกลิ่นน้ำมันโชยออกมามากรึเปล่า แต่ถ้าเป็นเครื่องหัวฉีดก็ผ่านไปครับดูด้วยตาเปล่าลำบาก พวกนี้ต้องจับปลั๊กเซ็คเอา
3. ตรวจระบบเบรก
เบรกถูกใช้งานหนักพอๆ กับเครื่องยนต์ การตรวจดูก็เริ่มที่สังเกตพวกท่อทางน้ำมันเบรกว่าอยู่ในสภาพดีหรือไม่ ตรงนี้สามารถบอกได้ว่าเจ้าของเอาใจใส่ดูแลรถดีแค่ไหน เพราะระบบเบรกเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญมาก ซึ่งเกี่ยวกับความปลอดภัย ถ้าระบบนี้ไม่ได้ถูกดูแล ก็บ่งบอกว่าเจ้าของเก่านั้นไม่ได้รักษารถเท่าที่ควรแล้วจะหวังให้ไปดูแลเรื่องเครื่องยนต์ บอกเลยยากครับ จากท่อแล้วก็ไปดูพวกคาร์ลิปเปอร์เบรกกันว่ามีรอยกระแทรกมั้ย เพราะอาจทำให้คาร์ลิปเปอร์เบี้ยวได้ ทีนี้ก็มาดูที่จานเบรกกันต่อว่ามีร่องรอยอะไรบางไหมเช่น จานคด จานไหม้ เพื่อนำข้อมูลไปต่อราคา (ถ้าชอบคันนี้จริงๆ นะ) พอดูด้วยตาเปล่าเรียบร้อยก็ลองหมุนล้อดูว่าเบรกมีการติดขัดอะไรหรือไม่ แล้วก็ลองเบรกดูทั้งล้อหน้า-ล้อหลัง ว่ามีเสียงอะไรผิดหูมั้ย ส่วนถ้าจะลองว่าเบรกลื่น เบรกได้ไหม อันนี้ต้องลองขับแล้วเบรกดู เพราะเรื่องเบรกต้องดูกันให้ดี

4. ตรวจช่วงหน้า - หลัง
ช่วงหน้าในที่นี้เหมารวมหมด ตั้งแต่วงล้อ ยาง ซ็อคอัพ ไฟหน้า ไฟเลี้ยว แผงคอ ฯลฯ ง่ายๆ คือ ครึ่งรถช่วงหน้าทั้งหมด ถามว่าดูทำไม? ก็ต้องบอกว่ามันต่อเนื่องจากการตรวจระบบเบรกหน้าครับ บางคันเบรกแน่น แต่ขายึดคาร์ลิปเปอร์เบี้ยวนิดเดียว ขับไปๆ เบรกก็ไม่อยู่ กินผ้าเบรกข้างเดียว แค่เรื่องเล็กๆ ก็อาจเป็นหายนะครั้งใหญ่ได้ ดังนั้นตรวจสอบให้ละเอียดเอาไว้ก่อนดีกว่า ลองโยกแผงคอดูว่าลูกปีนตอเป็นยังไงบ้าง ซีลโช้คอัพรั่วมั้ย ส่วนด้านหลังก็เช่นกัน โช้คอัพหลังของเดิม หรือเปลี่ยนมา ถ้าเป็นรถไม่เกิน 2 ปี แล้วเปลี่ยนโช้คอัพเดิมๆ ตัวใหม่มาใส่มันก็ไงๆ อยู่นะ
5. ตรวจเรือนไมล์และระบบไฟ
ดูเรือนไมล์ว่าเป็นของตรงรุ่นไหม เป็นของที่เปลี่ยนมาใส่ใหม่หรือเปล่า จากนั้นก็เปิดสวิทช์ ON ดูว่าไปบอกสัญญาณทำงานหมดไหม หรือถ้ามีไฟเตือนอะไรขึ้นมาก็ต้องถามสาเหตุที่มาให้แน่นอนและชัดเจนครับ ไม่งั้นจะต้องมานั่งเสียค่าโง่เจ็บใจกันเปล่าๆ ยิ่งพวก BigBike นี่อย่าเสี่ยงดีกว่าครับ กล่องไฟตัวหนึ่งแพงเอาเรื่องทีเดียว

6. ตรวจตัวถัง
ลองดูรอยบุบของโครง โดยเฉพาะบริเวณที่ใกล้ๆ ตำแหน่งรอยเชื่อม ให้ดูว่ามีรอยร้าว ของรอยเชื่อมหรือไม่ เพราะในตำแหน่งใกล้รอยเชื่อมมันอันตรายหากเกิดการกระแทก อีกส่วนที่ควรตรวจดูคือบริเวณ รอยเชื่อมระหว่างโครงรถ กับคอรถ ตรวจดูว่ารอยเชื่อมนั้นมีสีกระเทาะออกมาเหมือนโดนกระแทกมาหรือเปล่า ถ้ามีก็อาจจะชนมาจนคอเสียศูนย์ไปแล้ว (อันนี้ต้องลองขี่ดูนะครับ)
7. ตรวจสายยาง, สายไฟต่างๆ
ให้ตรวจดูสายยาง ท่อ และสายไฟต่างๆ ดูว่ามีรอยชำรุด หรืออยู่ในสภาพใด ให้สังเกตว่าถ้ารถไม่เกิน 2-3 ปี พวกสายยาง ท่อ และสายไฟยังไม่ถึงอายุของมัน ถ้ามีการเปลี่ยนมาก็ให้ถามถึงสาเหตุที่เปลี่ยน และในส่วนสายไฟนั้น ให้ตรวจดูความเรียบร้อยของการเดินสายด้วย ในรถที่มีหม้อน้ำให้ลองบีบท่อน้ำดูว่ากรอบหรือแข็งหมดสภาพรึเปล่า

8. ตรวจท่อไอเสีย
บริเวณคอท่อไอเสียกับปะเก็นท่อไอเสีย ดูว่าน๊อตคอท่ออยู่ครบหรือหรือถูกเปลี่ยน เพราะส่วนมากจะมีปัญหาแถวนี้ จากนั้นดูสภาพของท่อไอเสีย โดยดูจากสนิมที่กิน เนื้อเหล็ก ไล่ตั้งแต่คอท่อ จากนั้นก็ไปดูที่ปลายท่อว่ามีอะไรเยิ้มเกาะมากไหม เพราะมันแสดงถึง สภาพเครื่องยนต์ได้ โดยส่วนมากเจ้าของก็จะเช็คมาแล้วแต่ยังไงก็ต้องมีคราบให้เห็นอยู่บ้าง เพียงแต่อย่าขี้เกียจก้มดูก็แล้วกัน
9. โซ่, สายพาน, เพลาท้าย
 
ระบบส่งนั้นนอกจากจะถามเจ้าของถีงการเปลี่ยนแปลงหรือซ่อมบำรุงแล้วก็ต้องตรวจดูด้วยตัวเองอีกครั้ง อย่างโซ่ก็ต้องดูทั้งระบบซึ่งหมายถึงสเตอร์หน้า - หลังด้วย ว่าสึกหรอไปมากขนาดไหน ส่วนถ้าเป็นรถสายพานก็เปิดช่อง เช็คสายพานออกมาดูว่าสายพานมีสภาพเป็นอย่างไร ยึดไปแล้วมากน้อยแค่ไหน หรือถ้าเป็นแบบเพลาขับ - เฟืองท้าย ก็ต้องถามถึงการเปลี่ยนน้ำมันเฟืองท้ายครั้งล่าสุดรวมถึงเปิดดูสีและระดับน้ำมันจริงด้วย
10. ถึงเวลาลองเครื่อง
ขอเขาลองสตาร์ทเครื่องดู ลองฟังเสียงดูว่ามีเสียงแปลกออกมาหรือแหลมออกมาไหม ถ้าไม่แน่ใจลองบิดเร่ง รอบดู แต่อย่าไปเบิ้ล ส่วนมากถ้าเครื่องสะอาด (เครื่องไม่เคยถูกเปิด) ก็มักจะมีแค่เสียงวาล์ว คราวนี้ลองขับดูครับ เพราะการลองขับนั้นได้หลายอย่างมากตั้งแต่เรื่องเครื่องยนต์ เรื่องเกียร์ เรื่องเบรก โช้คอัพ ฯลฯ เอาเป็นว่าก่อนจะซื้อต้องลองขี่ ดูให้ได้ครับ ถ้าเขาไม่ให้ก็ไม่ต้องไปซื้อมัน (55) เมื่อได้ขับก็ลองให้มั่นใจ อย่ามัวเกรงใจจะลองอะไรก็บอกเค้าไปเลย อีกเรื่องที่สำคัญเรื่องทะเบียนครับ จะโอนจะจ่ายเงิน หรือโอนลอยไปแล้วจ่ายก็ว่าไป ตรวจเอกสารดูให้ดีระวังไปเจอรถขโมย รถเถื่อน เดี๋ยวงานงอก แล้วจะหาว่าไม่เตือนกัน
จริงๆ แล้วรถมือสองเป็นอีกหนึ่งทางเลือกดีๆ ของคนชอบเล่นรถ ด้วยราคาที่น่าสนใจ การเติมแต่งที่มีสไตล์เป็นเอกลักษณ์ และเพิ่มสมรรถนะในการขับขี่ที่หาไม่ได้ในรถใหม่ป้ายแดง แต่ทั้งนี้คุณก็ต้องเลือกให้ดี ดูให้เป็น ลองเอา 10 ข้อนี้ไปพิจารณาดูครับ รับรองว่าช่วยได้
Credit : http://auto.sanook.com/5830/

อ่านก่อนซื้อ! วิธีเลือกบิ๊กไบค์มือสอง

อ่านก่อนซื้อ! วิธีเลือกบิ๊กไบค์มือสอง




ท่ามกลางกระแสการขี่บิ๊กไบค์ที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ จากการรุกตลาดลงทุนเปิดไลน์ประกอบขึ้นในบ้านเรา ทั้งจากยี่ห้อดังฝั่งยุโรปและแบรนด์คุ้นเคยจากประเทศญี่ปุ่น หลายคนที่กระเป๋าเงินหนาเลือกซื้อรถใหม่เพื่อตัดปัญหาจุกจิก ทว่ายังมีนักบิดอีกจำนวนไม่น้อยที่ต้องการทางเลือกมากกว่ารถที่มีจำหน่ายโดยบริษัทผู้ผลิต อีกทั้งมองว่าไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นกับรถใหม่เสมอไป ทำให้ตลาดบิ๊กไบค์มือสองดูจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง แต่จะมีวิธีการเลือกซื้ออย่างไรไม่ให้โดนหลอก“ASTV ผู้จัดการมอเตอริ่ง” จึงนำกูรูในแวดวงบิ๊กไบค์เมืองไทย...วิกรม มนตรีโชค ผู้จัดการฝ่ายขาย บริษัท ออโต้เซ็นเตอร์ การประมูล จำกัด หรือที่รู้จักกันดีในฐานะผู้ประกอบการนำเข้ารถจักรยานยนต์ขนาดใหญ่ในชื่อ “เรดบารอน” มาเผยวิธีการเลือกบิ๊กไบค์มือสองกันอย่างละเอียด...
       เอกสารถูกต้อง เลขคอ-เครื่องตรงเล่ม
     
       อันดับแรกการเลือกซื้อบิ๊กไบค์มือสอง ไม่ได้ดูที่ตัวรถแต่ให้ดูที่เอกสาร อย่างที่ทราบกันว่า รถที่จำหน่ายตอนนี้มีหลายรูปแบบ บางคันมีแต่เอกสารอินวอย บางคันเสียภาษีสรรพสามิตมาแล้ว หรือบางคันไม่มีเอกสารอะไรกำกับมาเลย ในที่นี้ขออนุญาตกล่าวถึงรถที่จดทะเบียนอย่างถูกต้องและสามารถวิ่งบนถนนได้โดยไม่ผิดกฏหมายเท่านั้น
     
       สำหรับรถที่จะซื้อให้ดูที่เลขคอและเลขเครื่องว่า ตรงกับคู่มือจดทะเบียนในเล่มหรือไม่ และที่สำคัญเลขคอหรือเลขเฟรมต้องตรงกับรุ่นของรถคันนั้นด้วย ดังนั้น ก่อนที่จะตัดสินใจผู้ซื้อต้องศึกษาข้อมูลมาก่อนบ้างพอสมควร นอกจากลักษณะนิสัยของตัวรถแล้ว ต้องรู้ด้วยว่ามีเลขเฟรมรหัสอะไร เพราะโมเดลนัมเบอร์นี้ไม่มีทางหลอกกันได้ หรือแม้เห็นว่าถูกต้องครบถ้วนแล้ว ยังต้องดูอีกว่ามีการตอกทับตัวเลขมาด้วยหรือไม่
       รถสีเดิมจากโรงงาน
     
       ต่อมาดูที่สีตัวรถว่าเป็นสีเดิมๆ จากโรงงานหรือว่าผ่านการทำสีมาใหม่ อย่างน้อยถ้าเป็นสีเดิม แสดงว่ารถคันนี้อาจจะไม่เคยเกิดอุบัติเหตุมาก่อนก็ได้ เพราะส่วนมากรถที่มีร่องรอยการเกิดอุบัติเหตุจะใช้การทำสีใหม่ เนื่องจากถ้าเปลี่ยนอะไหล่อย่างชุดแฟริ่งต้องใช้เงินประมาณหลักหมื่นบาท แต่การทำสีใหม่ใช้แค่หลักพันบาท
     
       ส่วนวิธีการดูง่ายๆ คือ สติ๊กเกอร์ตรงชุดแฟริ่งจะอยู่บนแล็กเกอร์ ไม่ได้อยู่ใต้แล็กเกอร์ ถ้าเอามือลูบจะรู้สึกสะดุด ไม่เหมือนการซ่อมสีเฉพาะจุดที่จะพ่นแล็กเกอร์ทับไว้อีกชั้น อีกอย่างถ้าเป็นรถรุ่นเก่าๆ พวกลายสีจะเป็นลายสติ๊กเกอร์ไม่ใช่ลายสีพ่น แต่หลักการดูนี้ทุกคนรู้กันหมด ปัจจุบันจึงมีพวกทำสีเสร็จแล้วค่อยเบิกสติ๊กเกอร์มาปิดทับก็มี แต่อย่างน้อยถ้าเลือกได้ขอเป็นสีเดิมไว้ก่อน รวมถึงชุดแฟริ่งอย่าให้มีรอยแตกหักหรือผ่านการซ่อมแซมมาแล้ว
       เครื่องยนต์เดินเรียบเสียงไม่สะดุด
     
       สำหรับการพิจารณาเครื่องยนต์ค่อนข้างลำบาก ถ้าไม่ได้ใช้เครื่องมือตรวจสอบ คงต้องอาศัยการฟังเสียง ลองสตาร์ทเครื่องฟังเสียงรอบเดินเบาว่าไม่สะดุด ถ้าเป็นเครื่องยนต์ 4 สูบ ประมาณ 1,200 รอบต่อนาที อาจจะมีสวิงขึ้นลงบ้างแต่ไม่มาก และลองบิดคันเร่งเล็กน้อย สังเกตุว่ามีเสียงดังผิดปกติหรือไม่ กรณีรถที่แคมชาร์ฟละลายมาก่อน เวลาเครื่องเดินเบาก็ไม่ค่อยได้ยิน แต่ถ้าเร่งเครื่องมันจะดังสะท้านขึ้นมาและรู้ทันทีว่าเครื่องมีปัญหาแน่นอน
       ทั้งนี้ ใช่ว่ารถทุกคันเครื่องจะเงียบ ในแต่ละยี่ห้อหรือรถบางรุ่นเสียงก็ดังมาตั้งแต่เกิด หากไม่ใช่คนที่คุ้นเคยและคลุกคลีกับรถมาบ่อยๆ ก็ไม่รู้ ถ้าจะอาศัยฟังเสียงเครื่องอย่างเดียว ด้วยความที่เป็นมือใหม่อาจจะลำบาก เอาเป็นว่าบิดคันเร่งไปแล้ว เสียงเครื่องจะสมูท ไม่มีเสียงแปลกปลอมที่ดังขึ้นมาก็ถือว่าใช้ได้
     
       ขณะเดียวกัน ต้องดูปลายท่อไอเสียประกอบด้วย ถ้ารถวิ่งมาเยอะเครื่องอาจจะเริ่มหลวม ทำให้มีน้ำมันเครื่องเข้าไปในกระบอกสูบและเผาไหม้ไม่หมด มันจะสะสมเกาะตัวอยู่ที่ปลายท่อลักษณะคล้ายคราบน้ำมันเยิ้ม รวมถึงถ้าบิดคันเร่งแล้วมีควันขาวออกมาด้วย แสดงว่าเครื่องหลวมแบบนี้บอกลาได้เลย
       อุปกรณ์สึกหรอพร้อมใช้ไม่ต้องเปลี่ยน
     
       ในส่วนของรถมือสองอุปกรณ์ที่สึกหรอ ต้องดูว่ายังอยู่ในสภาพดีหรือไม่ และผ่านการใช้งานมาแล้วสัมพันธ์กับระยะที่กำกับบนเรือนวัดความเร็วด้วย โดยแบ่งออกเป็น
     
       1.ยาง ต้องอยู่ในสภาพดี เนื้อนิ่ม ไม่แตกลาย พร้อมดูวันที่ผลิตอย่าให้นานเกินไป
       2.โซ่ สเตอ ถ้าซื้อมาแล้วต้องเปลี่ยนใหม่ ราคาชุดละหลักหมื่นบาท คิดว่าคุ้มค่าหรือไม่
       3.ผ้าเบรก ดูจากความหนา ถ้าต้องเปลี่ยนใช้ของแท้ตรงรุ่น ราคาหลายพันบาท 
       4.จานเบรก พิจารณาจากความหนาและพื้นผิว ถ้าใช้ผ้าเบรกแบบอัดใหม่จะทำให้พื้นผิวเงาคล้ายกระจกแบบนี้ไม่ดี ถ้าใช้ผ้าเบรกของแท้ตรงรุ่น พื้นผิวจานเบรกจะออกด้านๆ หรือเป็นลายคลื่นบ้างแต่ไม่มาก เอานิ้วลูบจะสากเล็กน้อย หากเป็นรถมือสองถ้าไม่มีรอยคลื่นที่จานเบรกเลยไม่มีทางเป็นไปได้
      
       อย่าเชื่อในสิ่งที่เห็น
     
       สำหรับอุปกรณ์บางส่วน การใช้ตาดูเพียงอย่างเดียวไม่สามารถนำมาพิจารณาตัวรถได้ เช่น เรือนวัดความเร็ว เลขระยะที่แสดงการใช้รถเชื่อถือได้เพียงเล็กน้อย เพราะสามารถนำมากรอใหม่ได้ ขณะที่ความเชื่อว่าการขี่ปล่อยมือเพื่อทดสอบศูนย์รถว่ายังดีอยู่และไม่ได้ผ่านการชนหนักมา อันนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่ง หากปล่อยแล้วเกิดอาการวูบชัดเจน แบบนี้ต้องมีปัญหาแน่นอน แต่บางกรณีไม่ได้เป็นรถอุบัติเหตุ อาจจะเกิดจากการประกอบก็ได้
     
       ขณะเดียวกัน รถที่ผ่านการล้มสไลด์หรือล้มแปะ นับเป็นเรื่องปกติที่อาจเกิดขึ้นและบางทีความเสียหายก็ไม่มีผลอะไรต่อตัวรถ รวมถึงไม่ได้ส่งผลต่อการขับขี่ ยกตัวอย่าง รถแข่งในสนามที่เห็นล้มสไลด์ ทีมงานนำมาซ่อมแล้วก็สามารถกลับไปแข่งต่อแถมวิ่งด้วยความเร็วมากกว่า 200 กม./ชม. ตัวรถยังนิ่งและวิ่งเข้าโค้งด้วยความเร็วสูงได้เหมือนเดิมอีกด้วย
       โดยส่วนใหญ่จุดสังเกตรถที่เคยประสบอุบัติเหตุหนักๆ คือ ให้ดูที่แผงคอจะมีสต็อปเปอร์เอาไว้กันเวลาหักคอเลี้ยวจนสุด ตัวนี้จะสึกหรือหักไปเลย หรือไม่ก็มีรอยบุบเหมือนโดนกระแทกเข้าไป ถ้าสังเกตุดีๆ เวลารถชนหนักแฮนด์จะพับเข้าและกระแทกกับสต็อปเปอร์ ถ้ามีรอยการสัมผัสนิดๆ ก็ปกติ เพราะเกิดจากเวลาล็อคคอ ให้ดูว่ามันไม่ได้หักหรือมีรอยเชื่อมมา ซึ่งตรงนี้เป็นจุดสังเกตุหลักๆ เลย
        
       และอีกจุดที่ต้องดูคือ บางคันชนหนักโช้กหน้าจะงอเข้าไป วิธีแก้ก็ดัดออกมาให้มันตรง แต่มันจะเหลือร่องรอยอยู่ พวกนี้ถ้าคนขายไม่เก็บงาน มองด้วยตาก็เห็นเลย หรือบางคนก็ซ่อนโดยการดึงโช้กขึ้นมาหรือใช้วิธีโหลดหน้า ให้สันนิษฐานก่อนว่าทำเพื่อตั้งใจปกปิดร่องรอยบางอย่าง
       การรับประกันและบริการหลังการขาย
       
       หากซื้อกับเจ้าของรถโดยตรงจะมีข้อเสียเรื่องการรับประกัน และไม่รู้ว่าจะนำรถเข้าเซอร์วิสกับร้านใดได้บ้าง แต่ถ้าซื้อกับร้านค้าอย่างน้อยหากเกิดปัญหา ผู้ซื้อสามารถนำรถเข้ามาเคลมประกันได้ สำหรับ “เรดบารอน” รถใหม่รับประกัน 1 ปี หรือ 20,000 กม. แล้วแต่ระยะใดถึงก่อน ส่วนรถมือสองรับประกัน 3 เดือน ไม่กำจัดระยะทาง ซึ่งข้อนี้ใช้เป็นหลักประกอบการเลือกซื้ออีกทางหนึ่งด้วย
       
       ...ทั้งหมดเป็นวิธีการเลือกซื้อบิ๊กไบค์มือสองเบื้องต้น อาจจะค่อนข้างละเอียดอ่อนสำหรับมือใหม่ แต่ถ้าไม่อยากต้องมานั่งร้องไห้ทีหลัง ควรศึกษาข้อมูลรถก่อนตัดสินใจ เพราะมีผลโดยตรงกับความปลอดภัยและอาจถึงขั้นเป็นอันตรายต่อชีวิต...
Credit : 
http://www.manager.co.th/Motoring/ViewNews.aspx?NewsID=9560000066229